วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เรื่องของนางภัททา

ในสมัยพุทธกาล ก็มีเรื่องของนางภัททา ธิดาเศรษฐีมีอายุย่างเข้าวัย 16 ปี มีรูปร่างสวยงาม บิดามารดา จึงระวังรักษาให้อยู่บนปราสาทชั้นที่7 ให้หญิงรับใช้คอยดูแล
แต่ธรรมดาของหญิงสาวในวัยนี้ย่อมมีความฝักใฝ่ในชายหนุ่มดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่นำโจรหนุ่มผ่านมาทางบ้านของนางพอนางเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นโจรเท่านั้นก็เกิดจิตรักใคร่
ในตัวโจรทันที คิดว่า "ชาตินี้ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มมาเป็นคู่ครองก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่" และรู้ว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังนำโจรไปประหาร ความรู้สึกของนางเหมือนกับกำลังสูญเสียสามี
สุดที่รัก ฝ่่ายสาวใช้เห็นเช่นนั้น จึงรีบแจ้งให้เศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาทราบ บิดามารดาของนางพอมาถึงก็ได้ไถ่ถามทราบจากปากของธิดาว่า "ถ้าไม่ได้โจรหนุ่มคนนั้นมาเป็นคู่ ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป"
บิดามารดา ช่วยกันพูดอ้อนวอนอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เป็นผล ด้วยความรักและห่วงใยในลูกสาว จึงยอมติดสินบนเจ้าหน้าที่
ขอไถ่ตัวโจรหนุ่มคนนั้นโดยให้นำมาส่งที่บ้าน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชบุรุษทั้งหลาย รับสินบนไปแล้วก็ได้นำโจรหนุ่มคนนั้นมามอบให้เศรษฐี แล้วนำนักโทษอีกคนหนึ่งไปประหารชีวิตแทน
แล้วกราบทูลพระราชาว่าฆ่าโจรสัตตุกะเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีรับตัวโจรหนุ่มสัตตุกะไว้แล้วให้อาบน้ำชำระร่างกายและมอบเสื้อผ้าชั้นดีให้ส่วมใส่ก่อนนำไปยังปราสาทของลูกสาว
ทำพิธีส่งตัวให้เป็นคู่สามีภรรยา โจรสัตตุกะมีความสุขอยู่ในบ้านของเศรษฐีพรั่งพร้อมทุกอย่างได้ทั้งภรรยาที่แสนสวย ทรัพย์สินเงินทองก็มีให้ใช้อย่างสุขสบายแต่เขาก็อยู่ได้ไม่นานเพราะนิสัยสันดานโจร
อดที่จะทำชั่วไม่ได้ เขาคิดจะฆ่าภรรยาเพื่อจะนำเอาเครื่องประดับอันมีค่านั้นไปขาย แล้วนำเงินมาหาความสุขสำราญ เขาจึงวางแผนพาภรรยาไปที่ยอดภูเขา หลอกว่าเพื่อไปทำพิธีพลีกรรมเทวดาที่ตน
ได้บวงสรวงไว้ แต่เมื่อไปถึงหน้าผา โจรสัตตุกะก็พูดกับนางด้วยเสียงอันแข็งกร้าวเด็ดขาดว่า "ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มออกแล้วถอดเครื่องประดับทั้งหมดมัดห่อรวมกันไว้เดี๋ยวนี้" นางภัททาได้ฟังคำและเห็นกิริยาของสามีเปลี่ยนไปเช่นนั้น "นายจ๋า ดิฉันทำอะไรผิดหรือ?" "เอาละนายจ๋า วันที่ท่านถูกราชบุรุษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมพาตระเวนประจานไปทั่วเมืองก่อนนำมาประหารที่ภูเขาทิ้งโจรนี้ ดิฉันได้อ้อนวอนบิดามารดาให้สละทรัพย์เป็นอันมากไถ่ชีวิตท่านแล้วนำมาแต่งงานกับดิฉัน และดิฉันก็มีความรักต่อท่านอย่างสุดหัวใจ วันนี้ท่านมีความประสงค์จะฆ่าดิฉันให้ได้ เพื่อต้องการเครื่องประดับ แต่ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่ดิฉันจะตายขอให้ดิฉันได้แสดงความรักต่อท่าน เป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด"

ขอให้ท่านจงยืนตรงนั้นแล้วดิฉันจะขอสวมกอดท่านทั้ง 4 ทิศ หลังจากนั้นท่านก็จงประหารดิฉันเถิด โจรชั่วสัตตุกะเห็นกิริยาอาการและฟังคำพูดของนางดูเป็นปกติสมจริง จึงยอมให้นางกระทำตามที่ขอแล้วไปยืน
ตรงที่นางบอกบนยอดเขา ขณะนั้นนางภัททาผู้เป็นภรรยาได้ทำการประทักษิณเดินเวียนขวารอบสามี 3 รอบแล้วไหว้ทั้ง 4 ทิศพร้อมกับกล่าวว่า "นายจ๋า นี่เป็นการเห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย นับต่อแต่นี้การที่ดิฉันจะได้เห็นท่าน และท่านจะได้เห็นดิฉันก็คงไม่มีอีกแล้ว" เมื่อกล่าวจบนางก็สวมกอดข้างหน้าแล้วก็เปลี่ยนมากอดข้างหลัง ขณะที่โจรชั่วเผลอตัวอยู่นั้นนางได้ผลักโจรตกลงไปในเหว ร่างของโจรชั่วแหลกเหลว
เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จบชีวิตอันชั่วร้ายของเขาที่เหวนั้น คิดว่าถ้าเรากลับบ้านไป บิดามารดาก็จะต้องซักถามหากทราบความจริงแล้ว คงจะตำหนิติเตียนนางที่ดื้อรั้นนางจึงตัดสินใจออกบวชในสำนักของพวกนิครนถ์และต่อมาได้เที่ยวแสวงหาบัณฑิตจนได้พบกับพระสารีบุตรเกิดเลื่อมใสศรัทธาขอศึกษาวิชาพุทธมนต์ในพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งขอบรรพชาและถึงพระเถระเป็นสรณะ
แต่พระเถระบอกว่าขอให้นางถึงพระพุทธองค์เป็นสรณะเถิดแล้วพานางไปยังพระวิหารเซตวัน นำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงส่งนางให้ไปบวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์เมื่อนางบวชแล้ว
ได้ชื่อว่า "กุณฑลเกสาเถรี" เป็นภิกษุที่บรรลุอรหัตผลในเวลาจบคาถาเพียง 4 บาท จึงเป็นเหตุให้ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน


เรื่องนี้เตือนสติเราได้ว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน
ได้แต่งงานสมหวังในรักแล้ว คิดว่าชีวิตจะมีความสุข
แต่ความสุขในอารมณ์รัก อารมณ์ใคร่ มันวางใจไม่ได้
ไม่เที่ยงแท้แน่นอนจริงๆๆ

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2551

นิพพานสำหรับทุกคน

คัดจาก หนังสือ นิพพานสำหรับทุกคน โดย พุทธทาสภิกขุ พิมพ์ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดย ธรรมทานมูลนิธิ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ ณ ลานหินโค้ง ๒ เมษายน ๒๕๓๑
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรม ทั้งหลาย,
การบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาควิสาขบูชา เป็นครั้งที่ ๑ ในวันนี้ อาตมาก็จะกล่าวเรื่องปกิณกะ คือเรื่องเดียวจบต่อไปตามเดิม. ในวันนี้มีหัวข้อสำหรับกล่าว ว่า นิพพานสำหรับทุกคน นิพพานสำหรับทุกคน
พอได้ยินคำนี้ มีหลายคนที่คงจะเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ นิพพานสำหรับทุกคนจะเป็นไปได้อย่างไร, เพราะว่า นิพพาน นั้น หมายถึง การตายของพระอรหันต์ เมื่อทุกคนไม่ได้เป็นพระอรหันต์ นิพพานจะเป็นของทุกคนได้อย่างไร. นี่ขอยืนยันว่า ไม่ใช่อย่างนั้น นิพพานไม่ใช่การตายของพระอรหันต์; นิพพานนั้น หมายถึงความเย็นเพราะไม่มีกิเลสและไม่ต้องตาย.
ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า นิพพาน นี้ไม่ได้เกี่ยวกับความตาย แต่หมายถึงความเย็น ถ้าตายแล้วจะรู้สึกเย็นอย่างไรได้ คนตายรู้สึกร้อนรู้สึกเย็นได้อย่างไร; มันต้องเป็นของคนที่ยังมีความรู้สึกอยู่ คือไม่ตายนั่นเอง. นิพพานแปลว่าเย็น เมื่อใดไม่มีร้อนเมื่อนั้นก็เย็น มันเย็นชนิดที่ไม่มีร้อน. ไม่ใช่เอาของเย็นๆ มากินเข้าไป เช่นว่าเอาน้ำแข็งมากินเข้าไปแล้วมันก็จะเย็น, มันเย็นอย่างนี้ มันอีกความหมายหนึ่ง เย็นในนิพพานนั้น หมายความว่า มันไม่มีความร้อน ไม่ต้องเอาน้ำแข็งมากินหรืออะไรทำนองนั้น

ท่านจะต้องสนใจให้ดี ให้เข้าใจเรื่องของนิพพาน จึงจะไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท และพระพุทธศาสนาก็จะมีประโยชน์แก่ทุกคนหรือทุกท่าน มันเป็นสิ่งที่มีสำหรับทุกคน ไม่ใช่มีสำหรับสองสามคนหรือไม่กี่คน; ถ้ามีได้เฉพาะแก่พระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ก็มีไม่กี่คน พุทธศาสนาก็ไม่มีประโยชน์แก่คนทั่วไป มีแก่คนไม่กี่คนอย่างนี้ มันไม่คุ้มค่า; พุทธศาสนาจะต้องเป็นประโยชน์แก่ทุกคนไม่มากก็น้อย เหมือนกับว่าสระน้ำใหญ่ สระน้ำใหญ่ที่ใครขุดไว้ มันก็มีประโยชน์แก่สัตว์ทุกชนิดและทุกขนาด สัตว์ตัวโตๆ เช่นช้าง มันก็ลงไปกินไปอาบได้ สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น กบเขียดหรือเล็กกว่าเขียด มันก็ลงไปกินไปอาบได้; มีประโยชน์แก่สัตว์ทุกชนิดหรือทุกขนาดดังนี้ มันก็คุ้มค่า. พระนิพพานก็เหมือนกัน เหมือนกับเป็นสระที่พระพุทธเจ้าท่านขุดไว้ ก็เป็นประโยชน์ได้แก่ทุกคนตามมากตามน้อย โดยสมบูรณ์เต็มที่หรือโดยบางส่วน ก็ตาม มันก็เรียกว่ามีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น

ฉะนั้นขอให้นึกให้ถูกต้องว่า ถ้าเป็นพุทธบริษัทต้องได้รับประโยชน์จากพระนิพพาน ตามมากตามน้อย และเพราะว่าพระนิพพานนั้นสามารถให้สำเร็จประโยชน์เช่นนั้นได้จริง, ขอให้พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมันยังจะไปไกลถึงกับว่า แม้คนโง่ไม่รู้จักพระนิพพานเอาเสียเลย เขาก็ยังลงไปกินไปอาบในสระแห่งนิพพานนั้นได้โดยไม่รู้สึกตัว ข้อนี้ก็เพราะว่า พระนิพพานเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในที่ทั่วไป เมื่อบุคคลไม่มีความร้อนใดๆ ก็หมายความว่า กำลังดื่มกินพระนิพพาน.
ทีนี้ก็จะพูดกันถึงความร้อน ความร้อนทั่วๆไป อย่างไฟอย่างนี้ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวนี้หมายถึง ความร้อนในจิตใจ ที่มันเกิดมาจากกิเลส เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นความร้อนแห่งไฟคือกิเลส, ถ้าเมื่อใดความร้อนจากไฟคือกิเลสมันไม่มี เมื่อนั้นก็มีภาวะแห่งนิพพาน. นี่เป็นหลักที่สำคัญที่สุดที่จะต้องกระทำไว้ในใจว่า เมื่อใด ไม่มีไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่มี, ก็มีความเย็นอย่างนิพพาน, ถ้ามันไม่มีชั่วคราว มันก็เป็นความเย็นชั่วคราว. ถ้ามันมีนิดหนึ่ง มันก็เป็นความเย็นนิดหนึ่ง และมันคงเป็นความเย็นนั่นเอง; ถ้ามันเป็นความเย็นแล้ว ก็มีความหมายแห่งนิพพาน เป็นเรื่องความเย็นในทางจิตใจ ขอให้สนใจดูให้ดีว่า เรามีความร้อนเมื่อไร มีความร้อนใจเมื่อไร มันก็หมายความว่า มีความร้อนที่เกิดมาจากกิเลสเมื่อนั้น; เมื่อใดความร้อนชนิดนั้นไม่มี มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า นิพพานไม่มากก็น้อยอยู่ในจิตใจ.
การที่ไฟนี้จะดับไป กิเลสจะดับไปนี้ มันมีได้ทั้งสองอย่าง คือ (๑) มันดับของมันเองก็ได้, (๒) มีผู้ทำให้ดับก็ได้; คือว่า มีการประพฤติปฏิบัติทำให้กิเลสไม่เกิด หรือดับมันเสีย มันก็ดับเพราะมีผู้ทำให้ดับ, แต่ถึงอย่างไรมันก็ยังมีการดับของมันเอง เพราะมันหมดเหตุหมดปัจจัยของมันเอง ไม่ต้องมีใครมาทำให้ดับมันก็ดับ เพราะว่ากิเลสนี้มันก็เป็นสังขารธรรมตามธรรมดา คือสิ่งที่เกิดมาจากเหตุจากปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย; เมื่อเหตุปัจจัยหมดลงขาดลง มันก็ดับของมันเอง.ง
มีความสำคัญที่จะต้องทราบไว้เป็นหลักว่า "สิ่งใดมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็มีการดับลงเป็นธรรมดา", เป็นบาลีก็ว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ - สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา. กิเลสก็มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามธรรมดาของสังขารที่มีเหตุมีปัจจัย และมันก็ดับลงเพราะหมดเหตุหมดปัจจัยตามธรรมดา; เมื่อกิเลสนั้นดับลงไป มันก็มีความเย็นกิเลสไม่เกิดขึ้นรบกวน มันก็มีความเย็น ดังนั้น ทุกคนไม่ใช่ว่าจะมีกิเลสเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา มันมีเวลาที่กิเลสไม่เกิด หรือว่า กิเลสมันดับไปเองตามธรรมดา มันก็ต้องมีความเย็นในความหมายของนิพพาน ฉะนั้น จึงพูดได้เต็มปากว่า นิพพานนั้นมีสำหรับทุกคน และมีอยู่สำหรับทุกคน ในลักษณะที่มากบ้าง น้อยบ้าง ชั่วขณะบ้าง หรือ นานหน่อยบ้าง หรือถ้าดีถึงที่สุดก็ตลอดกาล.

นี่ขอให้เข้าใจเถิดว่า นิพพานมีสำหรับทุกคนตามมากตามน้อย; เหมือนกับว่า สระใหญ่สระหนึ่ง สัตว์ชนิดไหนก็ลงไปอาบไปกินได้ เขียดตัวเล็กๆ ก็ลงไปอาบไปกินอยู่ได้ ช้างตัวโตๆ ก็ลงไปอาบไปกินอยู่ได้; มันจะแช่อยู่นานเท่าไร มันก็เย็นเท่านั้น มันอยู่ประจำในที่นั้นเลย แล้วมันก็เย็นตลอดเวลา นี่เรียกว่า กิเลสนั้นมันดับเมื่อไร ดับเท่าไร ดับที่ไหน มันก็มีความเย็นเท่านั้น ที่นั้น เมื่อนั้น. ฉะนั้นขอให้ทุกคนเห็นได้ชัดว่า มันเป็นของสำหรับทุกคนจริงๆ แต่ธรรมดาของคนไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ไม่ยอมเชื่อ พอได้ยินคำว่า นิพพานสำหรับทุกคน มันก็โห่ฮากันแล้ว โห่ฮาป่ากันแล้ว อาตมาก็ไม่กลัวที่จะถูกโห่, ฉะนั้นขอยืนยันว่า นิพพานสำหรับทุกคน อยู่นั่นเอง.
ขอให้ทุกคนรู้จักพระนิพพานชนิดนี้, จำเป็นที่จะต้องรู้จัก เพราะว่ามันมีคุณค่าอย่างใหญ่หลวง หรือจะเรียกว่า เป็นหนี้บุญคุณของพระนิพพานอย่างน้อยู่อย่างใหญ่หลวง พูดให้จำกัดชัดเจนลงไปว่า ภาวะที่การว่างจากกิเลส ที่ปรากฏแก่จิตเมื่อจิตว่างจากกิเลส นั่นแหละคือนิพพาน, เมื่อใดจิตว่างจากกิเลส เมื่อนั้นก็เป็นนิพพาน. เดี๋ยวนี้ เวลานี้นั่งอยู่ที่นี่ จิตมีกิเลสหรือไม่? ถ้าใครมีกิเลส มันก็ไม่มีนิพพาน, ถ้าใครไม่มีกิเลส มันก็มีภาวะแห่งนิพพาน คือความว่างจากกิเลส; นั่งอยู่ที่นี่อาจจะมีความคิดนึกรักโกรธเกลียดกลัวอะไรก็ได้ สงสัยอะไรก็ได้, ไม่เชื่อผู้พูดผู้เทศน์ กำลังเกลียดน้ำหน้าผู้เทศน์ผู้พูดอยู่ก็ได้ มันก็ไม่ว่างจากกิเลส; แต่ถ้ามันไม่มีกิเลสโดยประการใดๆ มันก็เป็นความว่างจากกิเลส หรือมีความเย็นแห่งนิพพาน.
ท่านทั้งหลายจะต้องคิดดูเรื่องนี้ให้ดีๆ เพราะว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ว่าจะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นหมันไม่มีประโยชน์อะไร หรือว่าจะทำให้พระพุทธศาสนามีประโยชน์ที่สุด และตัวเองก็เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างยิ่งคนหนึ่งด้วย; นั่นแหละจะต้องทำความรู้ความเข้าใจ ว่านิพพานคืออะไร อยู่ที่ไหน และเมื่อไร, มีแก่ทุกๆ คนได้หรือไม่. แต่อย่างไรก็ดีจะต้องรู้จักข้อที่ว่า มันเป็นชั้นๆ ชั้นๆ อยู่มันไม่เท่ากัน : นิพพานสำหรับพระอรหันต์ มันก็อย่างหนึ่งระดับหนึ่ง สำหรับ โสดาฯ สกิทาคาฯ อนาคาฯ มันก็ระดับหนึ่ง, สำรับผู้ที่ยังไม่เป็นโสดาฯ ยังเป็นปุถุชนธรรมดามันก็อีกระดับหนึ่ง ปุถุชนชั้นดีมันก็ระดับหนึ่ง ปุถุชนชั้นเลวมันก็อีกระดับหนึ่ง มันไม่เท่ากัน ความว่างจากกิเลสนั้น มันมีลักษณะไม่เท่ากัน หรือต่างกัน แต่แล้วขอให้เข้าใจว่า ขึ้นชื่อว่า ความว่างจากกิเลสแล้ว มันก็เป็นนิพพานๆ ทั้งนั้น เพราะมันแปลว่า เย็นๆ.
แม้แต่ทางวัตถุก็ยังใช้คำว่า เย็นนี่, ถ้าเป็นภาษาบาลี เช่น ไฟดับนี่ ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า นิพพานอยู่นั่นแหละ; มีคำว่า ปชฺโช ตสฺเสว นิพฺพานํ - ดับเหมือนความดับแห่งไฟ ดับเหมือนความดับแห่งไฟ ไฟที่หมดเชื้อมันก็ดับไป; นี่ก็เหมือนความดับแห่งกิเลสที่หมดเชื้อ ของร้อนมีความร้อน ไม่เย็น ก็เรียก่า ยังไม่นิพพาน ยังกินไม่ได้; เป็นคำพูดที่ใช้อยู่ในครัว ว่า แกงหรือข้าวต้มหรืออะไรมันยังไม่เย็นกินไม่ได้ แล้วต้องรอจนกว่ามันจะนิพพานพอสมควรแล้วจึงจะกิน นี่ยังใช้คำว่า นิพพานอยู่นั่นแหละ.
มีพระบาลีตอนหนึ่งมีข้อความว่า "ช่างทองเขาหลอมทอง หลอมแล้วเขาเอาออกมาจากที่ตัดไฟ ตัดไฟที่หลอมแล้วเอาน้ำรดให้มัเย็น"; คำคำนี้เป็นพระบาลีก็ว่า ทำให้มันนิพพาน - นิพพาเปยย; ช่างทองทำกิริยานิพพาเปยย คือทำให้ทองที่หลอมร้อนนั่นน่ะเย็น, แล้วเขาก็ทำเป็นรูปพรรณอย่างนั้นอย่างนี้ได้ตามความประสงค์ นี่คำว่า นิพพาน มันแปลว่า เย็น หรือทำให้เย็น มันไม่ได้แปลว่า ตาย. นี่เรารู้ความหมายของคำว่าเย็นนี้ มันมีได้ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ.
มีคำบาลีใช้กับการทำให้หมดพิษร้าย เช่นว่า สัตว์ป่าจับมาจากในป่า เช่นควายป่า ช้างป่า อะไรป่านี่ มันดุร้ายเหลือประมาณ อันตรายเหลือประมาณ; เขาเอามาเข้าคอกเข้าที่ บังคับฝึกหัดไปจนสัตว์เหล่านั้นเชื่องเหมือนกับแมว จนช้างป่านั้นเชื่องเหมือนกับแมว ทำอะไรก็ได้; อย่างนี้ก็เรียกว่า มันนิพพานเหมือนกัน มันหมดจากไฟคือไอ้ความป่าเถื่อนของมันแล้ว. นี่แม้กับสัตว์เดรัจฉาน.
ทีนี้ถ้าว่ามันเย็นทางจิตใจ มันก็ตั้งต้นๆ มาแต่ว่า อะไรทำให้ความอยากความหิว ความอยากน่ะ หยุดเย็นลงไป ก็เรียกว่า นิพพาน. ก่อนแต่พุทธกาลเขาก็เอาคำว่า นิพพานไปใช้กับเรื่องทางกามารมณ์นี่ เพราะว่า กามารมณ์นี้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วมันร้อนเป็นไฟยิ่งกว่าไฟ ถ้าทำให้มันระงับไปมันก็ได้ความสุขสบายตามนั้น; ก็เลยเรียกกามารมณ์ว่าเป็นพระนิพพานกันอยู่ในคนบางพวก. ทีนี้คนบางพวกเห็นสูงไปกว่านั้น โอ้, นั่นมันเรื่องต่ำมาก ก็มาเห็นว่า ไอ้เรื่องกามนี่มันเป็นไฟร้อนเสียเอง มันต้องมีอะไรมาดับมัน; ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิ ประเภทรูปฌานในเบื้องต้นก่อน รูปฌานที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานนี่, พอทำปฐมฌานได้ก็ละกามนั้นเสียได้ ละอกุศลเสียได้ มันก็เย็น. ไอ้คนที่แรกพบครั้งแรกนี้ก็เอาปฐมฌานนั้นน่ะเป็นนิพพาน เอาสิ, ละไฟคือกามเสียได้, ต่อมาก็รู้จักทำให้สูงขึ้นไปละเอียดขึ้นไปก็เป็นรูปฌานที่สูงขึ้นไป ก็ดับไฟนั้นได้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไปและก็พอใจๆ นี่เอาเรื่องรูปฌานเป็นนิพพาน เขามีอยู่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง.
ทีนี้ต่อมาปฏิบัติสูงขึ้นไปว่า ไอ้หลงในรูปฌานนี้มันก็เป็นไฟ ไฟชนิดหนึ่ง เรียกเป็นไฟที่เกือบจะมองไม่เห็นตัว ก็ปฏิบัติได้ขึ้นไปถึงอรูปฌาน พระพุทธเจ้า (ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) เมื่อเสด็จไปศึกษาในสำนักอาจารย์ต่างๆ เป็นครั้งสุดท้าย ก็เข้าไปศึกษาในสำนักอาจารย์ต่างๆ เป็นครั้งสุดท้าย ก็เข้าไปศึกษาในสำนักของอุททกดาบส เขาบอกว่านี่เป็นนิพพาน. พระพุทธองค์ว่าไม่ๆ ๆ ๆ ไม่พอ ไม่รับหรือไม่ยอมรับแล้วก็ลาออกไปศึกษาของพระองค์เอง จนในที่สุดก็พบว่า การทำให้กิเลสหมด ความสิ้นกิเลส นั้นน่ะเป็นนิพพาน, ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นั่นแหละ คือ นิพพาน; แล้วก็ไม่มีใครหานิพพานให้ดีกว่านั้นได้ มันก็ยุติลงเพียงเท่านั้น คือความสิ้นไปแห่งกิเลสไม่มีไฟแห่งกิเลสเผาลนแต่ประการใด เป็นนิพพานที่สมบูรณ์.
แต่แล้วในที่สุดความหมายของนิพพาน ก็มิได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปทางไหน นอกจากหมายความอยู่อย่างเดียวไปตามเดิมว่า เย็น - เย็น - เย็น เย็นชนิดไหนก็เป็นนิพพานชนิดนั้น เย็นเท่าไรก็เป็นนิพพานเท่านั้น เย็นเมื่อใดก็เป็นนิพพานเมื่อนั้น; มันจึงเรียกว่าเป็นสันทิฎฐิโก คือรู้จักประจักษ์ชัดอยู่ในใจ, มันเป็นอกาลิโก คือ ไม่จำกัดเวลา มันไม่มีกิเลสเมื่อใด มันก็เย็นเมื่อนั้น มันไม่จำกัดเวลา, แล้วก็เอหิปัสสิโก เรียกมาให้ดูได้ มันมีอยู่ มีอยู่อย่างนี้ เอหิปัสสิโก, และ โอปนยิโก เป็นสิ่งที่ควรมีควรน้อมเข้ามาให้มีอยู่ในตนเป็นอย่างยิ่ง นี่ถ้าพระนิพพานหมายถึงพระธรรมอย่างหนึ่ง, จะใช้คำตามภาษาบาลีนะ ตามภาษาบาลีซึ่งมันมีรูปศัพท์เปลี่ยนไปตามลิงค์ว่า สันทิฎฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก นี่; แต่ถ้าใช้ศัพท์คำว่า นิพพาน นิพพานัง มันก็เปลี่ยนเป็น สันทิฏฐิกัง อกาลิกัง เอหิปัสสิกัง โอปนยิกัง. ไอ้ อังหรือโอ นี่ไม่สำคัญล่ะ ไอ้ความหมายมันคงเดิมแหละว่า เป็นสิ่งที่ต้องรู้สึกอยู่ในใจ, เป็นสิ่งที่ไม่จำกัดเวลา ไม่ขึ้นกันอยู่กับเวลา หรือฤดูกาล หรือดินฟ้าอากาศ, แล้วมันก็มีอยู่ชนิดที่เรียกมาดูได้ เรียกมาดูได้ว่ามีความเย็นอย่างนี้ๆ, แล้วเป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุดที่ควรจะนำเข้ามาให้มีอยู่ในตน; นั่นเรียกว่า นิพพาน หมายความว่า เย็น - เย็น - เย็น.
เมื่อใดไม่มีกิเลสเกิดอยู่ในใจ มันเย็นชนิดหนึ่งซึ่งมันไม่ต้องกินน้ำแข็ง; เอาน้ำแข็งมากิน มันก็ได้ความเย็นชนิดที่อำนาจของน้ำแข็ง; แต่ถ้ามันไม่ร้อน ถ้ามันไม่ร้อน ไม่ร้อนจนไม่ต้องกินน้ำแข็งน่ะ มันก็เย็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งดีกว่า แน่นอนกว่า สนิทกว่า คือมันไม่กระวนกระวาย. เพราะเอาเย็นชนิดที่ไม่มีไฟน่ะ เอาเย็นชนิดที่มันไม่มีของร้อนเป็นความหมายของนิพพาน เมื่อไม่มีกิเลสปรากฏอยู่ในจิตและภาวะแห่งจิตในเวลานั้น ก็เป็นจิตที่สัมผัสอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน คือความเย็นที่ปราศจากความร้อน. คนเรามันไม่รู้จัก มันรู้จักแต่ไอ้ความเย็นที่หลอกๆ จะต้องกินน้ำแข็งบ้าง จะต้องเอาพัดลมมาพัดบ้าง นี่มันเป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น ถ้าเป็นเรื่องทางจิตแล้ว มันไม่ได้ทำได้ด้วยการใช้พัดลมหรือด้วยการกินน้ำแข็ง มันเป็นเรื่องที่ต้องมี เพราะว่ากิเลสมันไม่มี
เอาล่ะ พูดเสียตั้งยืดยาว ก็เพื่อจะให้เข้าใจเพียงข้อเดียวเท่านั้นแหละว่า นิพพานแปลว่าเย็น ไม่ได้แปลว่าตาย และไม่ได้จำกัดอยู่ที่ว่า ความตายของพระอรหันต์; ถ้าความตายของพระอรหันต์เป็นนิพพาน ความตายของคนเหล่าอื่นมันก็จะไม่ใช่และมันก็เหลือน้อยเกินไป แต่ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้นโดยเด็ดขาด มันไม่ใช่ความตาย แต่มันเป็นความเย็น ถ้าจะเรียกว่าความตาย มันเป็นความตายของความร้อน ความร้อนตายไม่ใช่คนตาย ถ้าความร้อนตายมันก็มีสิ่งตรงกันข้ามคือความเย็น นี่ ขอให้มีความเย็น เพราะว่า ไม่มีความร้อน.
จำกันง่ายๆ ว่า มันเย็นเพราะว่ามันไม่มีความร้อน, ความร้อนมันไม่เกิด หรือว่าเกิดแล้วมันถูกกระทำให้ดับลงไปก็ได้ทั้งสองอย่างแหละ ถ้าความร้อนคือกิเลสมันดับลง มันก็มีความเย็นเป็นนิพพาน เมื่อใดไม่มีความร้อน ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นมันก็อยู่ด้วยความเย็น มีความเย็นอกเย็นใจ ใครไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็ดูจะยังเป็นเด็กมาก ไม่รู้จักคำว่าความเย็นอกเย็นใจ ถ้ารู้จักคำว่าเย็นอกเย็นใจ ก็หมายความเขาเริ่มรู้ความหมายของสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน และคงจะพอใจในความปรารถนาความต้องการเพื่อจะอยู่ด้วยความเย็นอกเย็นใจ
เย็นอกเย็นใจตามธรรมดาสามัญของบุคคลทั่วไปนี้ มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า นิพพุติ, นิพพุติ ก็แปลว่า ความเย็น , ความดับเย็นเหมือนกัน; แต่เอามาใช้ในระดับศีลธรรม ความเย็นในระดับศีลธรรมทั่วๆ ไป เรียกว่า นิพพุติ มีความหมายที่เย็นอกเย็นใจในระดับของชาวบ้านทั่วไป. แต่ก็ดูให้ดีเถิดว่า จะเย็นอกเย็นใจไม่ได้หรอก ถ้ามันมีกิเลสรบกวน ดังนั้น มันก็หมายถึงว่า ความที่กิเลสมันไม่รบกวนในระดับหนึ่งของชาวบ้านทั่วๆ ไป. เมื่อพระเขาบอกอานิสงค์ของศีลทุกคราวที่มีคนรับศีล ก็จะบอกว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย - ไปสุคติเพราะศีล สมบูรณ์ด้วยโภคะเพราะศีล ถึงนิพพุติเพราะศีล น่ะ มันสูงกว่าได้ทรัพย์สมบัติหรือสูงกว่าสุคติเสียอีกว่า นิพพุติน่ะหมายถึงเย็น; เราได้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า นิพพุติๆ ก็ไม่รู้ว่าอะไร; นั้นแหละคือพระนิพพานในระดับศีลธรรมทั่วๆไป ในระดับวัฒนธรรมทั่วๆไป ก็ได้
เป็นคำพูดที่ใช้กันมากในพุทธกาล พบข้อความในอรรถกถาหรือปกรณ์พิเศษอะไรนี่ มีอยู่ว่า หญิงสาวศากยะองค์หนึ่ง เมื่อได้เห็นพระสิทธัตถะเดินเข้ามาในที่ประชุมประกวดผู้หญิง หญิงสาวศากยะผู้นั้นก็ร้องออกมาว่า "บุรุษนี้เป็นลูกของมารดาคนใด มารดานั้นก็นิพพุตา คือเย็นเป็นลูกของบิดาคนใด บิดาของเขาก็เป็นนิพพุโต คือเย็น เป็นภัสดาสามีของหญิงใด หญิงนั้นก็นิพพุตา คือ เย็น" เป็นคำพูดธรรมดาๆ ที่ใช้กันอยู่ และก็มีความหมายเป็นที่รู้กันดีว่า เย็นอะไร เย็นอะไร, เย็นอกเย็นใจไม่มีพิษร้าย ไม่มีโทษอะไรเกิดขึ้น; คือ เป็นนิพพานกลางบ้าน นิพพานสำหรับคนทั่วไป เป็นระดับของศีลธรรมหรือวัฒนธรรมที่สูงเต็มที่.
ขอให้เรารู้จักนิพพานชนิดนี้กันไว้บ้าง ว่าเป็นที่ปรารถนาเป็นที่ต้องการของบุคคลผู้เจริญแล้ว เจริญด้วยวิชาความรู้ เจริญด้วยวัฒนธรรมและศีลธรรม คือเขาต้องการความเย็นชนิดนี้ ถ้าเราเป็นบุคคลที่มีศีลธรรมมีวัฒนธรรม เราก็ต้องรู้จักนิพพานชนิดนี้ เป็นเหตุให้กล่าวได้ว่า มีนิพพานระดับหนึ่ง สำหรับคนทุกคน ทุกคนไม่ยกเว้นใครสักคนเดียว ต้องการอย่างนี้ และก็มีได้อย่างนี้ ในส่วนลึกต่อ เมื่อใดไม่มีไฟคือกิเลส เมื่อนั้นก็เย็น.
ทีนี้เราก็มาพิจารณาดูต่อไปว่า กิเลสมันเกิดอยู่ตลอดเวลาไหม? เดี๋ยวนี้มีกิเลสไหม? ถ้ากิเลสมันเกิดอยู่ตลอดเวลา ราคะ โทสะ โมหะ เผาผลาญอยู่ตลอดเวลาไม่เว้นว่างเลยน่ะ คนมันอยู่ได้ไหม? ถ้าไม่บ้าก็ตาย ถ้าไม่ตายก็บ้า ถ้ากิเลสมันเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา. เพราะโดยเนื้อแท้กิเลสไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งคืนหนึ่งในเวลาที่กิเลสเกิดนั้นน่ะกลับมีน้อยกว่าที่กิเลสไม่เกิด, คิดดูให้ดีนะ คิดดูให้ดี เวลาที่กิเลสไม่แผดเผาหัวใจ มันมีมากกว่าเวลาที่กิเลสแผดเผาหัวใจ; ถ้ากิเลสแผดเผาหัวใจมากกว่าธรรมดา มันก็บ้า, ถ้ากิเลสแผดเผาหัวใจอยู่ตลอดเวลามันก็ตายล่ะ มันไม่ได้มานั่งอยู่อย่างนี้.
เพราะฉะนั้นดูให้ดีว่า ไอ้ความที่ไม่มีกิเลสแผดเผาหัวใจนั้น มันก็มีอยู่เป็นพื้นฐาน สำหรับให้เราไม่บ้า ให้เราไม่ตาย เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายทุกคนเป็นบ้าไหม? ถ้าไม่เป็นบ้า มันก็เพราะมันมีเวลาที่มันว่างจากกิเลส รักษาไว้อย่างเพียง และมันก็จะไม่ตาย ถ้าตายก็ไม่ต้องมาพูดกัน เดี๋ยวนี้มันไม่ตาย เพราะว่ากิเลสมันไม่ได้แผดเผาอยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงนั่นน่ะยังมีเวลาที่แผดเผาไม่เท่าไร บางทีจะไม่ถึงชั่วโมงกระมังรวมๆ กันแล้ว; นี่มันจึงยังรอดอยู่ได้.
เหมือนกับว่าต้นไม้นี่ ถ้าเอาไฟลนอยู่ตลอดเวลามันก็ตาย, ถ้าไฟมันลนบางเวลาและเป็นส่วนน้อย มันก็ไม่ตาย มันก็ไม่ตาย มันยังอยู่ได้ด้วยเวลาที่ไม่มีไฟมันลน. คนทุกคนรอดตายอยู่ได้ ก็เพราะมีเวลาที่มันว่างจากไฟคือกิเลส; ถ้าว่ากิเลสเกิดอยู่ตลอดเวลา มันนอนไม่หลับดอก มันนอนไม่หลับ มันตายแล้ว; เดี๋ยวนี้มันยังมีเวลานอนหลับและสบาย รุ่งขึ้นก็สบาย. หรือว่าเมื่ออยู่ธรรมดาๆ มันไม่ได้นอนหลับนี่ มันก็มีเวลาที่ปกติ ไม่กลัดกลุ้มเพราะไฟ มากกว่าเวลาที่มันกลัดกลุ้ม.
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า ไอ้ความเย็นเพราะไม่มีไฟเผานั่นน่ะมันมีอยู่ และมันเป็นเครื่องช่วยหล่อเลี้ยงไว้ไม่ให้คนเป็นบ้าหรือตาย เราก็เลยอยู่ได้และไม่ตาย เพราะมีพระนิพพานชนิดนี้หล่อเลี้ยงไว้. ทุกคนหรือไม่? ขอให้ดูให้ดีว่าทุกคนหรือไม่ ถ้าทุกคนไม่ตาย ไม่เป็นบ้า ก็ต้องมีอันนี้หล่อเลี้ยงไว้ ถ้าบางคนเป็นบ้าก็เพราะว่ามันมีไฟกิเลสนี่ห่อหุ้มเผาลนมากเกินไป มันก็ต้องเป็นบ้า ด้วยไฟโมหะ หรือไฟอะไรก็สุดแท้.
เดี๋ยวนี้ไม่เป็นบ้าและไม่ตายกันอยู่โดยทั่วๆ ไป เพราะว่าความเย็นแห่งพระนิพพาน ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี หล่อเลี้ยงเอาไว้. ทำไมไม่ขอบคุณพระนิพพานที่หล่อเลี้ยงไว้อย่างนี้? ทำไมจึงเป็นสัตว์ที่เนรคุณต่อพระนิพพานเกินไป คือไม่รู้จักหรือไม่สนใจเอาเสียเลย? ขอให้รู้จักพระนิพพานชนิดนี้ไว้บ้าง และขอบคุณๆ, เมื่อขอบคุณก็จะต้องหล่อเลี้ยงไว้ หล่อเลี้ยงไว้ให้มีความเย็นอยู่ตลอดเวลา และเย็นยิ่งๆ ยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าจะเย็นถึงที่สุดเหมือนกับพระอรหันต์ หรือเป็นพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่ง
ความเย็นมีอยู่เป็นพื้นฐาน ชีวิตนี้มันก็ต้องการความเย็นชนิดนี้หล่อเลี้ยงไว้ เราจึงแสวงหาความเย็น รู้จักแสวงหาความเย็นอยู่โดยสัญชาตญาณ; สัญชาตญาณเป็นความรู้สึกที่เกิดอยู่เอง เกิดได้เอง มันก็รู้จักแสวงหาความเย็นเอง เช่น ความหิว มันเป็นความร้อน มันก็ต้องการจะระงับความหิว มันก็หาอาหารกิน มันก็รู้จักระงับความหิว ทารกมันก็รู้จักดูดนม ไม่ต้องมีใครสอน เพราะสัญชาตญาณที่ต้องการจะระงับความหิว ไม่โง่ไกว่านั้นเป็นยุง, ยุงมันก็รู้จักดูดเลือด รู้จักดูดเลือดคนเพื่อจะบรรเทาความหิวคือความร้อน จนตัวมันตาย จนคนตบมันตาย; มันมีสันชาตญาณที่จะกำจัดความหิว หรือความร้อน ให้ความหิวนั้นมันระงับไป นี่โดยสัญชาตญาณมันก็ต้องการอยู่อย่างนี้ มันต้องการความเย็น มันต้องการความหยุดแห่งความหิวหรือความร้อน
กล่าวได้เลยว่า สัญชาตญาณมันต้องการที่จะหยุดความหิวหรือหยุดความร้อน มันจึงแสวงหากัน กระทำทุกๆ อย่างเพื่อจะหยุดเสียซึ่งความหิว และความร้อน; อย่างนี้เป็นของทุกคนหรือหาไม่? ดังคำพูดว่า "พระนิพพานของทุกคน" นี่ ควรจะถูกโห่หรือไม่? นิพพานของทุกคน ใครพูดขึ้นมานี้ควรจะโห่ให้หรือไม่? ถ้ามันโห่ก็เรียกว่ามันยังไม่รู้ มันยังโง่อยู่ มันโง่เอง มันไม่รู้ว่า นิพพานนั้นมีได้สำหรับสิ่งที่มีชีวิต.
เพราะถ้ามีชีวิตมันต้องหล่อเลี้ยงไว้ด้วยความเย็นชนิดนี้ คือความที่กิเลสไม่แผดเผา ถ้ามันยังมีชีวิตอยู่ ก็รู้เสียว่า มันมีการหล่อเลี้ยงไว้ด้วยความเย็นที่กิเลสไม่แผดเผา; จะเป็นคนนี้เห็นได้ง่าย แม้จะเป็นสัตว์ มันก็ยังต้องอยู่ในกฏเกณฑ์อันนี้. ถ้ากิเลสมันแผดเผา สัตว์นั้นมันก็ต้องตายเหมือนกันแหละ แต่ว่าสัตว์มันเกิดกิเลสได้ยาก เพราะมันโง่ มันคิดไม่เป็น มันจึงง่ายกว่าคนที่ว่ามันจะอยู่อย่างที่ไม่มีกิเลสแผดเผา อย่าอวดดีไปว่าคนมันจะดีกว่าสัตว์ไปเสียทุกอย่าง คนมันยังสู้สัตว์ไม่ได้ในบางแง่หรือบางอย่างนะ; แต่มันจะเหนือกว่าในทางอื่นโน้น.
เป็นอันว่าเป็นชีวิตมีชีวิตแล้ว มันต้องมีพระนิพพานหล่อเลี้ยง เหมือนกับต้นไม้เหล่านี้ ต้นไม้ทุกต้นเหล่านี้ มันมีน้ำหล่อเลี้ยง ไม่อย่างนั้นมันตายนะ ถึงเราไม่ได้เห็นว่าเป็นน้ำ แต่ในดินมันมีน้ำ ต้นไม้มันดูดขึ้นไปหล่อเลี้ยง ดังนั้นถ้ามันยังเขียวอยู่อย่างนี้ ก็หมายความว่า มันมีน้ำที่หล่อเลี้ยงไว้ คือ ความเย็นของน้ำหล่อเลี้ยงไว้ นี่เป็นเรื่องทางวัตถุ
เรื่องทางจิตใจก็เหมือนกันถ้ายังมีชีวิตเขียวสดอยู่ ก็หมายความว่า มันมีความเย็นแห่งพระนิพพานน่ะหล่อเลี้ยงไว้. ทุกคนเป็นอย่างนี้ ทุกคนอยู่ได้ด้วยการหล่อเลี้ยงของไอ้ความเย็นชนิดนี้ มันจึงไม่ตาย.
เพราะฉะนั้นขอให้มองเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า นิพพานเป็นของทุกคน, ทุกคนมีนิพพานเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต; อย่าได้โห่ผู้ที่พูดว่า นิพพานเป็นของทุกคนเลย เดี๋ยวจะโง่เอง ถ้าเราจะไปพูดที่ในที่ชุมนุมนักศึกษาที่กรุงเทพฯ หรือที่ไหนก็ตาม พอเอ่ยขึ้นมาก็จะถูกโห่ เพราะเขาไม่ยอมเชื่อว่า นิพพานของทุกคน แต่ยกให้ว่าเป็นความโง่ของเขาเอง เพราะเขาไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะเขาได้ยินได้ฟังมาผิดๆ จากโรงเรียนที่สอนว่า นิพพานคือความตายของพระอรหันต์และคงไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า นิพพานนี้เป็นความเย็น
นี่เป็นที่น่าหัวว่า ที่ไม่ได้สอนกันว่า นิพพานนั้นคือความเย็นเพราะไม่มีไฟกิเลสแผดเผา; แต่กลับไปสอนลูกเด็กๆ ว่า นิพพานคือความตายของพระอรหันต์ มันเป็นเรื่องของภาษา: พระราชาตายเรียกว่า สวรรคต, วัวควายตายเรียกว่า ล้ม, และก็มีการบัญญัติความตายหลายๆ อย่างเหมาะเป็นคนๆ ไป ถ้าพระอรหันต์ตายก็เรียกว่า นิพพาน นี่มันว่าเอาเอง มันไม่มีในพระบาลีในอรรถกถาและไม่มีในที่ไหน มันว่าเอาเอง นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย แต่แปลว่า เย็น ถ้าให้นิพพานแปลว่า ตาย มันต้องตายของกิเลส คือ กิเลสตาย.
ในโรงเรียนไหนสอนบ้างว่า นิพพานแปลว่า เย็น? มีแต่สอนว่าตาย, แต่แล้วก็ไม่บอกว่าตายของกิเลส; แต่กลับไปบอกว่าตายของพระอรหันต์. นี่มันจะโง่ลึกลึกเข้าไปอีก เพราะว่า พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ เพราะว่าพระอรหันต์บรรลุถึงธรรมะที่ไม่ตาย ถึงความไม่ตาย, คุณธรรมคือพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้นตายไม่ได้; ที่มันตายได้มันก็เพียงร่างกาย ร่างกายที่เน่าเหม็นนี่มันตายได้. พูดผิดไปหมดแล้ว มาเข้าใจถูกกันเสียทีว่า นิพพานแปลว่าเย็น; เมื่อไรไฟกิเลสไม่เกิดขึ้นมารบกวน เมื่อนั้นมันก็เย็น.
พระอาจารย์บนธรรมาสน์สมัยโบราณทั่วๆ ไปนะ เขาพูดจ้ออยู่บนธรรมาสน์ว่า นิพพานเป็นบ้านเป็นเมืองเป็นนคร เรียกว่า ศิวโมกข์มหานคร เป็นนครแห่งพระนิพพาน เป็นบ้านเป็นเมืองอยู่ที่นั่น มีความสุขได้ตามอยากได้ตามต้องการทุกอย่าง เรียกว่า เป็นบ้านเป็นเมือง; แต่ว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้, ให้อุตส่าห์ทำความดี ทำบุญ ทำอะไรต่างๆ ตายแล้วจะได้ไปเกิดในศิวโมกข์มหานครมหานิพพานนั้นน่ะ; มันเป็นเสียอย่างนี้ พอผู้เทศน์เอ่ยชื่อว่า ศิวโมกข์มหานิพพาน คนที่นั่งอยู่ก็ยกมือท่วมหัวว่า สาธุๆ; นี่เรียกว่ามีนิพพานไว้ร้องบอกและสาธุๆ, ไม่ทำความเย็นหรืออะไรให้แก่จิตใจเลย. เช่นเดียวกับเดี๋ยวนี้ พอได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้าคำเทศน์ออกชื่อพระพุทธเจ้า ยกมือท่วมหัว สาธุ, คำเทศน์เอ่ยมาว่า นิพพาน ก็ยกมือท่วมหัว สาธุ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร; เป็นธรรมเนียมให้ยกมือท่วมหัวแล้วร้องว่า สาธุ เมื่อได้ยินพระเทศน์ว่า พระพุทธเจ้าบ้าง นิพพานบ้าง หรือคำอะไรบางคำที่มีความสำคัญ.
นี้เพราะไม่รู้ตามที่เป็นจริง ว่านิพพานนั้นคืออะไร มันก็มีนิพพานกันแต่ปากนิพพานตามธรรมเนียม ว่าจะไปถึงต่อตายแล้ว แล้วก็รออยู่หลายหมื่นชาติกว่าจะบรรลุถึงนิพพาน อีกหลายหมื่นชาติกว่าจะถึงนิพพาน แล้วถึงต่อตายแล้ว ทั้งนั้น; ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ตายแล้วจึงจะถึงน่ะ จะเอาไปทำอะไร? ดังนั้นถ้าว่าจะมีประโยชน์โดยแท้จริง มันต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้, มีความเย็นมากขึ้น เย็นมากขึ้น จนไม่มีความร้อนเหลืออยู่เลย นี่นิพพานที่ถูกต้อง ไม่ใช่นิพพานตามธรรมเนียม
ขอให้พวกเรารู้จักว่า นิพพานเป็นอย่างไร และจะมีได้สำหรับทุกคนอย่างไร และยิ่งกว่านั้นอีก ขอให้ฟังดีๆ ว่ามันได้มีแล้ว มันได้มีแล้ว มีแล้วแก่ทุกคนอย่างไร, มันได้หล่อเลี้ยงชีวิตของคนทุกคนอยู่อย่างไร. นี่นิพพานของทุกคนมันเป็นอย่างนี้ นิพพานสำหรับทุกคนนั้นมันเป็นอย่างนี้; มีความหมายว่า เย็นๆ เย็นทางวัตถุ ทางวัตถุสิ่งของ ทางเนื้อหนัง ก็เอาคำว่านิพพาน, เย็นทางจิตทางใจก็ใช้คำว่า นิพพาน เพราะมันแปลว่าเย็น, เป็นคำพูดที่ใช้มาแต่โบราณกาล หมายถึง เย็น.
เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งต้นตั้งแต่ว่าเย็นทางวัตถุนี่: พอเอาน้ำแข็งมากินเข้าไป ก็ให้ระลึกนึกถึงว่าเย็น ซึ่งเป็นความหมายของพระนิพพาน; อย่าให้เสียเปล่า เย็นเมื่อไร เย็นด้วยอะไร ก็ขอให้นึกถึงนิพพาน เพราะคำว่านิพพานเป็นเจ้าของความหมายของคำว่าเย็น. พอไปนั่งในที่บางแห่งลมพัดเย็นสบาย เพราะว่าเย็น; อย่างนี้ ก็นึกถึงนิพพาน ตั้งความหมายเย็นเป็นนิพพาน เรื่อยๆ ไป และเย็นขึ้นไป เย็นขึ้นไป จนเย็นทางจิตใจ, แล้วมารู้ว่าตลอดเวลาที่ไม่มีความร้อนเกิดขึ้นในใจก็เย็นเป็นนิพพาน เย็นเป็นนิพพาน. หรือทำอะไรให้ถูกต้องอยู่เสมอ กิเลสเกิดไม่ได้ก็มีความเย็นเป็นนิพพาน มีความเย็นสำหรับทุกคน มีความเย็นสำหรับในที่ทุกหนทุกแห่ง มีความเย็นตลอดเวลา ตลอดกาล ทุกๆ กาล เย็นอย่างนี้คือความหมายของนิพพาน.
จงปรับปรุงจิตใจให้ดีอยู่เสมอ อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นมา ก็จะพบความเย็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทำสมาธิให้ถูกต้อง กิเลสเกิดไม่ได้ ก็เย็นๆ หายใจเข้าก็เย็น หายใจออกก็เย็น หายใจเข้าก็เย็น หายใจออกก็เย็น อยู่กับพระนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้; หายใจออก หายใจเข้า หายใจออกด้วยความรู้สึกว่าเย็น - เย็น - เย็น เพราะไม่มีกิเลส มีนิพพานกันที่นี่ อย่างนี้, แม้จะเป็นนิพพานน้อยๆ อย่างนี้ ก็ให้ทำไปเถอะ มันจะได้ค่อยๆ มากขึ้น จะค่อยๆ รู้จักมากขึ้น รู้จักทำให้มีมากขึ้นๆ จนกว่า จะสมบูรณ์หรือเต็มเปี่ยมแห่งความเย็น.
เขาไปเรียนเมืองนอกเมืองนามา ปริญญายาวเป็นหาง เขาจะไม่ยอมฟังว่า นิพพานสำหรับทุกคน เขาจะโห่ด้วย เขาจะหัวเราะเยาะด้วย ก็ตามใจเขาเถอะ เราพูดกันในป่าสำหรับคนโง่ตามสมมติของเขา เราก็ยืนยันว่า นิพพานคือความเย็น มีอยู่สำหรับทุกคน และได้หล่อเลี้ยงชีวิตทุกคน อยู่ไม่ให้เป็นบ้า ไม่ให้ตาย. ขอให้ขอบคุณพระนิพพาน ขอบคุณพระนิพพาน ก็เท่ากับขอบคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าท่านค้นพบเรื่องพระนิพพานเรื่องความเย็นนี้ ก็ขอบพระคุณท่าน, คำสอนของท่านเป็นความรู้เป็นการปฏิบัติเรียกว่า พระธรรม ก็เรื่องความเย็น ก็ขอบคุณพระธรรม, พระสงฆ์ได้ศึกษาได้เล่าเรียนปฏิบัติเรื่องความเย็นนี้ไว้สืบต่อๆ กันมา มาสอนให้เรา ก็ขอบคุณพระสงฆ์; แต่เสร็จแล้วรวมกันทีเดียวทั้งหมดดีกว่า ขอบคุณพระนิพพาน ขอบคุณความเย็น ความเย็น ที่หล่อเลี้ยงชีวิตไว้. ปราศจากนิพพานคือความเย็นเสียแล้ว มันก็เหี่ยวแห้งตาย อย่างดีที่สุดก็เป็นบ้า เพราะว่ามันถูกเผาลนอยู่ด้วยความร้อนคือกิเลส.
เอาล่ะ, เดี๋ยวนี้มันเข้ามาหลายปีแล้วใช่ไหม มันหลายสิบปีแล้วใช่ไหม มันหลายสิบปีแล้วใช่ไหม ไม่กี่ปีมันจะตายแล้วใช่ไหม ไม่กี่ปี มันจะตายใช่ไหม? รีบสนใจ รีบเข้าใจ รีบรู้จักพระนิพพาน คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตไว้ให้สงบเย็นเป็นปกติ คุณคงจะมีเวลาล่ะถ้ายังมีชีวิตเหลืออยู่สัก ๓๐-๔๐ ปี ก็พอถมไป อย่าโง่เหมือนเดิม อย่าปักหลักลงเสีย ไม่เคลื่อนไหว ไม่เขยื้อน จงพยายามให้มันเคลื่อนไหว ให้ความรู้มันเคลื่อนไหวๆๆ รู้จักพระนิพพานยิ่งขึ้นๆ โดยทำให้มันเย็นมากขึ้น เย็นมากขึ้น ทุกๆ วัน ทุกๆ เดือน ทุกๆ ปี เป็นผู้เจริญงอกงามด้วยพระธรรม ที่เรียกว่า พระนิพพาน
เอ้อ, ตอนนี้ก็มีคำประหลาดอยู่คำหนึ่ง ซึ่งจะต้องรู้ไว้ คือคำว่า เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ซึ่งชอบพูดกันนัก ทำอะไรสักหน่อยก็ว่า ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานเถิด. คำนี้มีความหมายลึกและเข้าใจผิดกันอยู่ พูดว่าเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานนี่ มันไม่ถูก ดอก เพราะพระนิพพานนี่ไม่ต้องการปัจจัย พระนิพพานอยู่ที่ความหมดเหตุหมดปัจจัย ไม่ต้องการปัจจัย จะทำอะไรให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานนั่นมันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระนิพพาน เป็นปัจจัยแก่การปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อการบรรลุพระนิพพาน ทำความดีความงามความอะไรก็ตาม ขอให้มันเป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระนิพพาน อย่าใช้คำว่า เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน มันผิดหลัก ผิดหลักธรรมะ เพราะนิพพานไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรแก่พระนิพพาน
แต่ว่าสำหรับเราที่จะบรรลุหรือเข้าถึงพระนิพพานนี้ มันมีเหตุมีปัจจัย จงทำอะไรๆ ให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่การที่จะก้าวหน้าไปสู่พระนิพพาน เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่จิต หรือ แก่นามรูปอันนี้ ที่มันจะเจริญจะพัฒนาจนกว่าจะบรรลุพระนิพพาน ถ้าอย่างนี้มันต้องการเหตุ ต้องการปัจจัยที่ถูกต้องและเพียงพอ ทำบุญทำทานทำความดีความงาม อะไรทุกๆ อย่าง ทุกๆ ประการ อธิษฐานให้เป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระนิพพาน อย่างนี้มันถูกต้อง ถ้าพูดว่าเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานน่ะ มันผิดความจริง มันผิดความหมาย มันผิดหลักพระธรรม เพราะว่า พระนิพพานเป็นความสิ้นปัจจัย เป็นความหมดแห่งปัจจัย อยู่เหนือเหตุเหนือปัจจัย ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้.
เดี๋ยวนี้ ถ้าว่ายังเป็นพระนิพพานน้อยๆ เป็นพระนิพพานอันที่เยอะก็พอจะเป็นไปได้แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำหรับบรรลุพระนิพพานน้อยๆ อย่างนี้ แต่เราจะมีพระนิพพานน้อยๆ อย่างนี้มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน มันก็ต้องมุ่งพระนิพพานที่หมดเหตุหมดปัจจัย เอาล่ะ แม้พระนิพพานน้อยๆ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันก็ต้องรู้ว่าไฟมันดับเพราะมันหมดเหตุหมดปัจจัย ไฟกิเลสมันดับเพราะมันหมดเหตุหมดปัจจัย เพราะฉะนั้น เราไม่ให้เหตุไม่ให้ปัจจัยแก่ไฟกิเลส แต่ให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่การที่จะช่วยให้ไฟกิเลสนี้มันดับ ช่วยในการดับไฟกิเลสนั้นก็ได้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานนั้นน่ะ ไม่มีความหมาย.
นี่เป็นปัจจัยเพื่อการบรรลุถึงพระนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่มีได้ จึงขอเตือนว่า ให้รู้จักคุณของพระนิพพาน ซึ่งเป็นคุณที่รวมของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาซักซ้อมอยู่ในใจเสมอไป และให้จิตใจระลึกถึงคุณค่าของความเย็นอยู่ทุกๆ เรื่อง ทุกๆ เวลา ทุกๆ สถานที่ จึงได้พูดว่า เมื่อไรมีความรู้สึกว่าเย็นแล้ว ขอให้นึกถึงพระนิพพาน เถอะ แม้จะเย็นหนาวกลางคืนก็ตามเถอะ ให้นึกถึงพระนิพพานเมื่อไ่ม่มีความร้อน นี่เป็นการฝึกฝนไว้ตลอดเวลาว่า จะติดต่อกับพระนิพพาน สนใจในพระนิพพาน สัมพันธ์กันกับพระนิพพาน ในความหมายของพระนิพพานว่าเย็นๆ: เอาน้ำแข็งมากิน นึกถึงพระนิพพาน เอาพัดลมมาพัดก็นึกถึงพระนิพพาน นั่งตากลมอยู่ที่ลมพัด ก็นึกถึงพระนิพพาน ว่าแหมนี่มันเป็นอย่างนี้นะ นี้มันควรจะมีมากกว่านี้ เย็นมากกว่านี้ นั่นคือซักซ้อม พระนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ พระนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการปลูกๆ ปลูกฝังน่ะ ปลูกต้นไม้เพื่อให้มันเจริญงอกงาม คือปลูกโพธิ ปลูกต้นโพธิ์ในจิตใจให้เจริญงอกงาม มันก็ได้รู้จักพระนิพพานมากยิ่งๆ ขึ้นไป เราก็จะได้บรรลุถึงระดับสูงสุดของพระนิพพานเข้าสักวันหนึ่งเป็นแน่นอน ถ้าทำได้มาก มันก็เร็ว ทำได้จริง มันก็เร็ว ทำอยู่เสมอๆ มันก็เร็ว มันเย็น - เย็น - เย็น - เย็น เย็นยิ่งขึ้นๆ นี่เป็นการทำกับพระนิพพานในฐานะที่ยอมรับว่า พระนิพพานเป็นของทุกคน พระนิพพานนั้น สำหรับทุกคน หรือจะพูดว่า สำหรับชีวิตทุกชีวิต ก็ได้เหมือนกัน
ขอให้สนใจพระนิพพาน อย่าได้เกลียดชังพระนิพพาน เหมือนกับที่เขาเกลียดชังกันว่า ไม่มีรสชาติอะไร ไม่อยากไปนิพพาน บางทีเป็นเอามาก มากถึงกับว่า พระนิพพานนี่เป็นอุปสรรคแห่งการพัฒนา พวกแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง พัฒนาแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เขาเกลียดพระนิพพาน ว่า พระนิพพานขวางความเจริญ ไม่เอาเรื่องพระนิพพานมาพูดในการพัฒนาแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง นั่นแหละมันไม่รู้ว่า จะพัฒนาไปทางไหน มันไม่รู้ว่า จะพัฒนาไปทางไหน มันไม่ได้พัฒนาไปในทางเย็น หรือในทางหยุดแห่งความร้อน น่าสงสารพวกคนที่เกลียดพระนิพพาน โดยที่ไม่รู้ว่านิพพานนั้นคืออะไร.
เราอย่ารวมอยู่ในบุคคลพวกนั้นเลย จงเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้จักพระนิพพานโดยแท้จริงว่า เป็นจุดปลายทาง ชีวิตนี้มีปลายทางอยู่ที่นิพพาน ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานอยู่เพียงใด มันยังไม่หยุด มันจะดิ้นรนกระวนกระวายกระเสือกกระสนอยู่นั่นเอง จนกว่าจะพบพระนิพพาน เหมือนปลาที่มันดิ้นไปบนบกก็แถกๆ กระเสือกกระไสไปจนกว่ามันจะพบน้ำน่ะ คือ นิพพาน มันจึงจะหยุด; เราก็เหมือนกัน ดิ้นรนกันอยู่บนแผ่นดินอันร้อนของกิเลส ดิ้นรนไปจนกว่าจะพบน้ำที่ถึงที่สุดคือ พระนิพพาน.
เดี๋ยวนี้ก็มีความเย็นบางอย่างบางประการหล่อเลี้ยงอยู่ไม่ให้ตาย ไม่ให้ตาย ยังส่งเสริมไอ้ความเย็นนั้นให้มากขึ้นๆ ๆ แล้วจะเป็นความเย็นที่สูงสุด มันก็รอด. พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ปริญญาๆ หรือ ความรอบรู้ในพระพุทธศาสนานี้ คือ ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ" เพราะว่า ความรู้ของมนุษย์เราน่ะ สูงสุดอยู่ที่ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เมื่อได้รู้ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นั่นแหละคือ ความรู้ที่แท้จริง หรือเรียกว่า ปริญญาๆ; ไม่ต้องรับด้วยแผ่นกระดาษ หรือมอบให้ ทุกคนทำให้ปรากฏขึ้นมาว่า มันหมดไฟแห่งราคะ หมดไฟแห่งโทสะ หมดไฟแห่งโมหะ, รู้ประจักษ์ชัดอยู่ในใจนั่นคือ ปริญญา. ปริญญาแปลว่า ความรอบรู้. ปริ แปลว่า รอบ, ญา แปลว่า รู้; ปริญญา แปลว่า รอบรู้ รู้รอบ รู้หมดจด รู้ถึงที่สุด ไม่มีอะไรที่ต้องรู้อีกต่อไป; นั่นคือ ความรู้ ว่า สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ.
ขอให้ทุกคนได้รับปริญญาของพระพุทธองค์เถิด, ถ้าเป็นพุทธบริษัทแล้ว จงดิ้นรนพยายามให้ได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า คือ สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ; ปริญญานี้ มีไว้สำหรับทุกคน รออยู่เบื้องหน้า รออยู่เบื้องหน้า. ขอให้มีพระนิพพานเป็นที่ไป ลุถึงบรรลุถึงในเบื้องหน้าคือการรับปริญญา โดยยืนยันอีกทีหนึ่งว่า นิพพานเป็นของทุกคน เป็นของสำหรับทุกคน ขอให้ทุกคนได้บรรลุถึงวัตถุประสงค์อันนี้ โดยถือว่า พระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต เมื่อถามว่า ชีวิตนี้จะไปไหนกันโว้ย? ก็ต้องบอกว่า ไปสู่ที่สิ้นสุดของความร้อน คือ นิพพาน มีสติปัญญารอบรู้ ดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นไปสู่ทิศทางของจุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน อย่าให้โง่จนถึงกับไม่รู้ว่า เกิดมาทำไมและอะไรจะพาไป.
จะเล่านิทานสั้นๆ สักนาทีหนึ่งว่า มีคนคนหนึ่งมันขึ้นม้าขี่ แล้วมันก็บังคับม้าไม่ได้ ม้ามันก็พาวิ่งไปๆ ๆ ม้าก็ควบใหญ่ วิ่งไปๆ ๆ เพื่อนร้องถามว่า แกจะไปไหนโว้ย? มันก็บอกว่า กูไม่รู้ แล้วแต่ม้าโว้ย นี่ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็จะเหมือนกับพวกเราที่ไม่รู้ว่า จะเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่าจะไปไหน แล้วแต่ม้ามันจะพาไป คือมันแล้วแต่ความโง่ มันจะพาไป.
ขอให้เป็นที่แน่นอนว่า สติปัญญา จะพาไป จะพาไปสู่จุดหมายปลายทางคือความสิ้นสุดแห่งกิเลส ไปรับปริญญาของพระพุทธเจ้า คือ หมดราคะ หมดโทสะ หมดโมหะ, ลุถึงนิพพาน สิ้นสุดแห่งการว่ายเวียน.
เอาล่ะ ขอให้มองเห็นชัดว่า นิพพานเป็นของทุกคน เป็นของสำหรับทุกคน โดยไม่ยกเว้นใคร แล้วพยายามให้ได้รับประโยชน์ถึงที่สุดด้วยกันทุกคนเถิด.
การบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยาย เป็นโอกาสให้พระคุณเจ้าทั้งหลาย ได้สวดบทพระธรรมเป็นคณสาธยาย ส่งเสริมกำลังใจของท่านทั้งหลาย ให้มีความเชื่อ มีความแน่ใจ มีความมานะ พยายาม บากบั่น เพื่อจะให้บรรลุถึงพระนิพพาน อันเป็นขั้นจุดหมายปลายทาง ให้พระนิพพานที่หล่อเลี้ยงอยู่ทุกวันนี้ เจริญงอกงามเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ โดยเร็วๆ เถิด.
ขอยุติการบรรยาย ณ กาลบัดนี้.

ความรู้ทางโลกและทางธรรมต้องเดินควบคู่กัน

ปัจจุบันนี้ งานวิจัยในวงการฟิสิกส์โดยส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อสานต่อภารกิจของไอน์สไตน์ เพื่อแสวงหาคำตอบในปริศนาหรือทฤษฎีเอกภาพที่ไอน์สไตน์ได้ทุ่มเทชีวิตในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายของเขา แต่ไม่สำเร็จ บรรดานักฟิสิกส์ยังเห็นพ้องต้องกันว่าควรต้องมีกรอบหลักการที่กว้างขวางครอบคลุมและเป็นพื้นฐานของทุกทฤษฎี จึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งยวดและเป็นความใฝ่ฝันอันสูงสุดในวงการวิทยาศาสตร์
ดิฉันมั่นใจเหลือเกินว่า พระนิิพพานในฐานะที่เป็นจุดปกติของจักรวาลนี่แหละคือกรอบหลักการที่กว้างขวาง ที่สามารถครอบคลุมเรื่องทุกเรื่องของจักรวาลและสามารถใช้เป็นพื้นฐานของทุกทฤษฎีได้ ความรู้ทางโลกโดยเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องเดินเคียงข้างกับความรู้เรื่องพระนิพพานเสมอจึงจะปลอดภัย จึงแน่ใจได้ว่าจะไม่ถูกใช้ไปในทางที่ผิด ๆ ถ้าหากขาดทฤษฎีเอกภาพอันคือพระนิพพานแล้วไซร้ ความรู้ทางโลกเหล่านั้นแม้จะเลิศเลอมหัศจรรย์และมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์อารยธรรมทางวัตถุมากเพียงใดก็ตาม มันก็ยังเป็นความรู้ในฝ่ายมืดที่มักถูกนำไปใช้เพื่อปรนเปรอกิเลสของมนุษย์ จึงเป็นความรู้ที่ยังหลงทิศอยู่ เป็นเรื่องการพายเรืออยู่ในหนองน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาล เหมือนติดคุกใหญ่ที่ไม่มีทางออก เป็นความรู้ที่มีคุณภาพเหมือนผ้าขาวสีขุ่นมัว ไม่ใสแจ๋วเหมือนความรู้เรื่องพระนิพพาน อันเป็นความรู้เรื่องการออกจากคุกของชีวิตอย่างแท้จริง

จุดนิ่งของจักรวาลสามารถยุติศีลธรรมสัมพัทธ์

จะยุติสภาวะที่สับสนและยุ่งเหยิงของสังคมได้ก็ต้องหยุดคิดเรื่องศีลธรรมอย่างสัมพัทธ์หรือเปรียบเทียบ จะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องรู้เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการมีศีลธรรมจรรยาเสียก่อน คนจะต้องรู้ว่าทำไมนักการศาสนาหรือนักบุญทุกท่านที่ผ่านมาในโลกจะต้องสอนคนให้ทำแต่ความดีและมีศีลธรรมเสมอ เหตุผลหลักมีข้อเดียวคือ มันเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ผู้รักษาศีลเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด หรือ เข้าถึงพระเจ้า หรือ พระนิพพาน นั่นเอง
จุดนิ่งหรือจุดปกติของจักรวาลอันคงที่ถาวรเท่านั้นที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานการวัดทุกสิ่งในจักรวาลได้ ผลที่ได้ก็จะมีค่าคงที่ สมบูรณ์ แน่นอน ไม่ขึ้นอยู่กับการตีความที่ออกจากกรอบความคิดที่แตกต่างหลากหลายเหมือนการใส่แว่นต่างสีของปัจเจกบุีคคลอีกต่อไป จะเป็นการพูดโดยการเอาสัจธรรมเป็นแกนหลักเสมอ จึงเป็นคำพูดที่มีความหนักแน่น คงทน ถาวร ฉะนั้น แทนที่จะยอมก้มหัวให้กับทฤษฎีสัมพัทธ์ภาพโดยพูดว่า “พูดอย่างสัมพัทธ์ relatively speaking” เราควรสร้างวัฒนธรรมทางภาษาที่เนื่องกับการรู้จุดคงที่ของจักรวาลขึ้นมาใหม่โดยใช้วลีเช่น “พูดอย่างเด็ดขาด absolutely speaking” แทน เพื่อให้ทุกเรื่องของชีวิตโยงกลับไปสู่สัจธรรมอันสูงสุดได้เสมอ
ไอน์สไตน์พูดว่า
วิทยาศาสตร์นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการคิดเรื่องราวของชีวิตประจำวัน
ฉะนั้น การรู้จุดปกติของจักรวาลจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างแนบแน่น เป็นเรื่องการสร้างวิถีชีวิตที่ปกติอย่างแท้จริง นี่เป็นเรื่องเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาอันสับสนและสลับซับซ้อนที่เนื่องกับสังคมและศีลธรรมได้ เปรียบเหมือนการแก้ปมเชือกของเส้นด้ายจากต้นสุดหรือปลายสุด เพื่อปมอื่น ๆ จะสามารถหลุดออกเป็นเปาะ ๆ จนกลายเป็นเส้นตรงได้

รุ่งอรุณของยุคมิคสัญญี

ศีลธรรมสัมพัทธ์จึงกลายเป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวทางศีลธรรมของทั่วโลก เพราะคนยุคนี้มักถนัดที่จะหาคนที่เลวกว่าตนเองมาเปรียบเทียบด้วยเสมอ เพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองก็ยังมีส่วนดีอยู่ รวมทั้งค่านิยมต่าง ๆ ที่ทำให้ศีลธรรมย่อหย่อนเช่น “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” การบูชาคนที่มีเงิน มีอำนาจและมีชื่อเสียง การทำผิดศีลธรรมของคนมั่งมีและมีชื่อเสียงกลับกลายเป็นเรื่องยอมรับของสังคมโดยเฉพาะการผิดศีลข้อสาม คนไม่น้อยของยุคนี้อาจจะร่ำรวยและมีชื่อเสียงขึ้นมาได้เพราะการกระทำที่ทุจริตหรือทำมิจฉาอาชีพของตนเอง เช่น ขายมนุษย์ ขายอาวุธ ขายสิ่งเสพติดทั้งหลาย การให้เกียรติและบูชาคนผิดศีลธรรมเพียงเพราะเขาร่ำรวยจึงไม่ต่างจากการเอาหนังสือศีลธรรมมาเหยียบเล่น ทำให้เรื่องผิดศีลธรรมกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมมากขึ้น เพราะไม่มีสิ่งดีที่สุดมาใช้เป็นมาตรฐานของการวัด จากการช่วยเหลือของฮอลลีวู๊ดที่ผลิตภาพยนตร์ที่เน้นการใช้ความรุนแรง ทำเรื่องการทำร้ายร่างกาย ฆ่ากัน ยิงกัน ให้เป็นเรื่องเท่ห์ เก๋ พร้อมกับเกมส์คอมพิวเตอร์ที่ส่วนมากเน้นแต่การทำร้ายซึ่งกันและกัน เด็ก ๆ จึงเห็นการกระทำผิดศีลธรรมเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาไป พฤติกรรมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เข้าใจชีวิตอย่างถูกต้องเหล่านี้จะทำให้ศีลธรรมกลายเป็นเรื่องอดีตของมนุษย์ไปในที่สุด การใช้ชีวิตอย่างไร้ศีลธรรมจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ไปในอนาคต ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่ยุคมิคสัญญี คือ ยุคที่มนุษย์สามารถฆ่ากันด้วยความเข้าใจผิดว่ามนุษย์เป็นผักปลา อันเป็นกลไกหรือธรรมชาติธรรมดาของสังสารวัฏ นี่จึงเป็นยุคที่ปัจเจกบุคคลต้องรีบเอาตัวเองให้รอดโดยรีบทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ

ยุคของคนตาบอดจูงคนตาบอด

เมื่อผู้นำรัฐเป็นคนตาบอดทางใจเสียเองแล้ว ผลเสียหายยิ่งร้ายแรงมากขึ้นและมีผลกระทบต่อคนหมู่มากอย่างน่าใจหาย เช่น รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ผับต่าง ๆ เปิดขายสุราได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนดื่มสุรามากขึ้นโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น นอกจากนั้น ยังยกเลิกกฎหมาย ไม่จัดกัญชาว่าเป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงอีกต่อไป ใครต่อใครจึงสามารถสูบกัญชาได้เหมือนสูบบุหรี่ ไม่ถูกจับมาลงโทษเหมือนสมัยก่อน กฎหมายที่โง่เขลาเบาปัญญาเหล่านี้จึงกลายเป็นมาตรฐานสมมุติที่คนนำมาเปรียบเทียบความดีเลวของตนเอง และกลับกลายเป็นกฎหมายที่สร้างปัญหาสังคมอย่างไม่จบไม่สิ้น เป็นการช่วยส่งเสริมทำลายสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจของประชาชนของตนเองแทนที่จะช่วยปกป้องในฐานะผู้ปกครองที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคลแทนที่จะนำไปใช้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ หรือใช้ในสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ นั้นกลับต้องมาทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาปลายเหตุที่รัฐบาลเป็นคนสร้างขึ้นมาเสียเอง
ความอ่อนแอของสถาบันศาสนาทั่วโลกก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้สังคมปั่นป่วนมากขึ้น เพราะไม่มีผู้นำทางจิตใจที่สามารถแสดงออกซึ่งภูิมิปัญญาทางธรรมอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถยับยั้งกฎหมายที่เป็นโทษต่อสังคม สังคมจึงขาดทิศทางของชีวิตที่ถูกต้อง เกิดสภาวะที่ฝรั่งเรียกว่า massive misdirection of life เป็นยุคของคนตาบอดจูงคนตาบอดอย่างแท้จริง
การนำคนหมู่มากไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิตอันคือสัจธรรมอันสูงสุดนั้นควรเป็นหน้าที่ของผู้นำทางศาสนาที่ทำร่วมกับผู้นำทางการเมือง โดยที่ผู้รู้จริงต้องเป็นที่ปรึกษาให้นักการเมือง แต่เมื่อผู้นำทางศาสนาไม่มีความรู้เรื่องสัจธรรมอันสูงสุดแล้ว จึงไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้นักการเมืองได้ การนำสังคมจึงตกเป็นหน้าที่ของนักการเมืองและสื่อมวลชนซึ่งล้วนแต่มีตาใจที่มืดบอดและอดไม่ได้ที่จะทำตามอำนาจของกิเลสทั้งสิ้น แถมผู้นำศาสนาบางลัทธิกลับไปสอนให้คนเกลียดชังซึ่งกันและกัน ถึงขนาดสอนให้พลีชีพตนเองเพื่อฆ่าคนหมู่มากที่ไม่เห็นด้วยต่อลัทธิของตนเพื่อการได้ไปสวรรค์อยู่กับพระเจ้า อันเป็นการกระทำของคนมืดบอดอย่างสนิท เพิ่มปัญหาที่หนักหน่วงให้สังคมโลกโดยไม่จำเป็น

ศีลธรรมสัมพัทธ์

สิ่งที่เสียหายมากกว่านั้นคือ ทฤษฎีสัมพัทธ์ภาพมีอิทธิพลต่อวิธีการคิดของคนรุ่นใหม่จนก่อให้เกิดศีลธรรมแบบสัมพัทธ์ขึ้นมา เพราะไม่รู้สัจธรรมอันสูงสุด จึงไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ต่างจากสิ่งชั่วที่สุดอย่างไร คนจึงมักคิดว่า ไม่มีระบบศีลธรรมที่สมบูรณ์ในตัวมันเอง There is no moral absolute. ฉะนั้น คนเราจึงตัดสินการกระทำว่าดีหรือชั่วในลักษณะของการเปรียบเทียบแบบสัมพัทธ์ เช่น นักขโมยเล็กขโมยน้อยจะคิดเปรียบเทียบตนเองว่าดีกว่าโจรปล้นธนาคารซึ่งคิดว่าตนเองยังดีกว่าอาชญากรที่ข่มขืนหญิงและฆ่าคนเป็นครั้งแรกซึ่งคิดว่าตนเองยังดีกว่าอาชญากรที่ฆ่าคนหลายคนแล้ว คนสูบบุหรี่จะคิดว่าตนเองดีกว่าคนกินเหล้าด้วยสูบบุหรี่ด้วยซึ่งคิดว่าตนเองย่อมดีกว่าคนติดยาเสพติด การคิดอย่างเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมเปรียบไปได้เรื่อย ๆ ในทั้งสองทางคือ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ต่อเมื่อรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น จึงจะมีมาตรฐานการวัดที่ถูกต้องอย่างแท้จริง สัจธรรมอันสูงสุดจึงจำเป็นต้องอยู่เหนือทั้งความชั่วและความดีทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่พึ่งพาได้